ทำอย่างไรดี เมื่อได้รับหมายศาล !?
Created on: Jun 16, 2022
เมื่อเราได้รับหมายศาล อันดับแรกเลย คือ เราต้องตั้งสติก่อน และเปิดดูหมายศาลว่าส่งถึงใคร และเป็นหมายประเภทไหน เพื่อเราจะได้เตรียมตัวถูกว่า ขั้นตอนต่อไปเราต้องทำอย่างไร ซึ่งทางทีมงาน ได้รวบรวมและสรุป ประเภทหมายศาลที่สำคัญๆ และพบบ่อยๆ ดังนี้
ประเภทของหมายศาล
1. หมายเรียกและคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ
เมื่อท่านถูกฟ้องจะมี “หมายศาล” ส่งไปตามที่อยู่ใน “ทะเบียนบ้าน” ท่านมีหน้าที่ตรวจสอบจดหมายที่ส่งไปยังที่อยู่นี้ เพราะในทางกฎหมาย หากหมายศาลถูกส่งถึงบ้านจะถือว่า ท่านได้รับแล้ว จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับไม่ได้ แม้ท่านจะอ้างว่า ไม่ได้รับเพราะอาศัยอยู่ที่อื่นก็ตาม
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า “เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน”
หากท่านได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งสามัญ ท่านมีหน้าที่ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย มิฉะนั้นแล้วถือว่าท่านขาดนัดยื่นคำให้การ และจะทำให้ท่านหมดสิทธิในการต่อสู้คดี อันมีผลให้ท่านต้องแพ้คดี หรือต้องรับผิดตามที่โจทก์ได้ฟ้อง ถึงแม้ว่าท่านจะมีข้อต่อสู้อื่นที่ทำให้ท่านไม่ต้องรับผิดก็ตาม
*** หากท่านได้รับหมายเรียกและคำฟ้อง คดีผู้บริโภค เช่น คดีผิดสัญญากู้ยืม เป็นต้น ท่านมีหน้าที่ต้องไปศาลตามกำหนดนัดในคำฟ้อง ถ้าท่านไม่ได้ไปศาลตามหมายนัดไม่มีความผิดในด้านกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีแพ่ง ไม่ติดคุก แต่จะถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและไม่ต่อสู้คดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เท่านั้น การที่ไม่ได้ไปศาลจะเสียสิทธิในการต่อสู้และต่อรองกับเจ้าหนี้
2. หมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง) หรือที่เรียกว่า “คำสั่ง” เรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง)”
เมื่อท่านที่ได้รับหมายดังกล่าว ท่านมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการและวันที่ที่ระบุไว้ในหมายดังกล่าว หากท่านไม่ยอมส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุตามคำสั่งเรียกอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 อันมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในหลังหมายหรือคำสั่งเรียกนั้น จะมีคำเตือนดังกล่าวไว้
อย่างไรก็ดี หากท่านไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียกนั้นไว้ในความครอบครอง ท่านก็ไม่ต้องจัดเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นไปยังศาล แต่ท่านจะต้องทำหนังสือชี้แจงถึงเหตุดังกล่าวไปยังศาล เพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกพยานได้รับทราบต่อไป แต่หากท่านมีเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นในความครอบครองเพียงบางส่วน หรือมีอยู่ทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียกแต่ท่านไม่สามารถจัดส่งไปยังศาลได้ทันกำหนดเวลาเพราะเหตุใดก็ตาม ท่านก็ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวไปยังศาลเพื่อขออนุญาตศาลจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลในคราวอื่นซึ่งหมายความว่าท่านยังคงมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นไปยังศาลอยู่นั้นเอง ซึ่งหากท่านละเลยไม่ดำเนินการใด ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อแก้ไขเหตุขัดข้อง ท่านก็อาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 เช่นกัน
3. หมายเรียกพยานบุคคล
หากท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว ท่านมีหน้าที่ต้องไปศาลตาม วันและเวลา ที่กำหนดไว้ในหมายเรียกเพื่อเบิกความเป็นพยานต่อศาล
หากขัดขืนไม่ไปศาลตามหมายเรียกดังกล่าว ศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 111(2) และอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 โดยมาตราดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในการเบิกความต่อศาลนั้น หากเบิกความเท็จในคดีแพ่งก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 หรือ 180 ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
อย่างไรก็ดี หากท่านมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในหมายท่านก็สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลได้ ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ที่ขอหมายเรียกร้องประสงค์จะให้ท่านเบิกความเป็นพยานต่อศาลอีก ก็จะต้องส่งหมายเรียกมายังท่านอีกครั้งหนึ่ง
หากท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว และท่านอยากทราบว่าท่านจะมีความผิดประการใดหากไม่ไปศาลตามวันและเวลาระบุไว้ในหมาย ท่านก็สามารถพลิกดูคำเตือนพยานซึ่งอยู่ด้านหลังของหมายเรียกดังกล่าวได้
4. หมายบังคับคดี
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว และจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ เมื่อจำเลยได้รับหมายบังคับคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้นโจทก์สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาทำการยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ไปได้หรือบังคับการใด ๆ ตามคำพิพากษาต่อไป
5. หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง
หมายศาลนี้เป็นหมายในคดีอาญา ซึ่งหากท่านได้รับหมายดังกล่าว แสดงผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ซึ่งตามกฎหมาย ศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่า คดีที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นมีมูลหรือไม่ แต่หากศาลเห็นว่าคดีนี้มีมูลศาลจะประทับรับฟ้องไว้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ศาลจะไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โดยต่างจากกรณีที่ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนก็จะทำสำนวนให้อัยการยื่นฟ้องศาล กรณีนี้จะไม่มีนัดไต่สวนมูลฟ้อง
เมื่อท่านได้นับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สิ่งที่ท่านควรจะทำ ดูรายละเอียดในหมายก่อนว่า ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันใด และคำฟ้องมีสาระสำคัญประการใด
หากท่านประสงค์จะสู้คดี ต้องรีบนำคดีไปปรึกษาทนายความที่ท่านเชื่อถือและไว้ใจและทำหนังสือแต่งตั้งทนายความเพื่อให้ทนายความไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทนท่าน โดยในวันนัดดังกล่าวท่านไม่จำเป็นต้องไปศาลตามวันที่และเวลาที่ระบุไว้แต่อย่างใด แต่หากท่านจะไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องท่านก็เตรียมหลักทรัพย์ไปเพื่อเตรียมประกันตัวในกรณีศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้พิจารณา
6. หมายเรียกจำเลย
หมายนี้เป็นหมายของศาลออกเมื่อหลังจากที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับรับฟ้องไว้ ศาลก็จะกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยไปให้การแก้ข้อกล่าวหาในคดี ซึ่งเมื่อท่านได้รับหมายเรียกนี้แล้วในวันนัดท่านจะต้องไปศาล เพื่อให้การแก้ข้อกล่าวหาแห่งคดี หากไม่ไปศาลก็จะออกหมายจับ
7. หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ (คดีอาญา)
หากท่านได้รับหมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาล ท่านมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือพยานวัตถุไปยังศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมายดังกล่าว แต่หากท่านไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวอยู่ในความครอบครอง หรือมีเพียงบางส่วนหรือไม่สามารถจัดส่งไปได้ทันเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ท่านมีหน้าที่ต้องแจ้งไปยังศาล โดยอาจทำเป็นหนังสือไปแถลงต่อศาลด้วยวาจาในวันที่ระบุในหมายเรียกก็ได้ ถ้าท่านที่ไม่แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาล หรือขัดขืนไม่จัดส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมาย ท่านอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งท่านที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวสามารถดูคำเตือนด้านหลังหมายว่าจะต้องรับผิดประการใดหากขัดขืนหมายศาลดังกล่าว
8. หมายจับ ค้น
หากท่านได้รับหมายจับ ค้น สิ่งที่ท่านควรกระทำมีดังนี้ คือ
-
อ่านรายละเอียดในหมายว่า ระบุให้ใคร กระทำการอะไร ที่ไหนเวลาอะไร ใครเป็นผู้ขอให้ออก และออกด้วยสาเหตุใด นอกจากนี้ ต้องดูอีกว่าผู้ใดเป็นผู้ออกหมายและหมายดังกล่าวได้ออกโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
-
หากตรวจดูรายละเอียดในหมายแล้ว เห็นว่าเป็นหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายท่านก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในหมายดังกล่าว เช่น
2.1 หากเป็นหมายค้นก็ต้องยอมให้ตรวจค้นได้ แต่การตรวจค้นจะต้องกระทำภายในเวลาและสถานที่ที่ระบุไว้ในหมายเท่านั้น และต้องกระทำอย่างเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตรวจค้น *** หากพบว่าการตรวจค้นไม่ชอบ ท่านสามารถดำเนินคดีเอากับผู้ตรวจค้นได้
2.2 หากเป็นหมายจับ ท่านก็ต้องถูกจับ และต้องประกันตัวต่อศาลเพื่อต่อสู้คดี หรือเจรจาประนีประนอมยอมความเอากับผู้เสียหายต่อไป
2.3 สำหรับหมายขัง จำคุก และปล่อยนั้น เป็นเรื่องที่ศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการเมื่อใด อย่างไร ซึ่งท่านก็ต้องถูกบังคับให้เป็นไปตามนั้น
ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ กำหนดให้หมายจับและหมายค้นนั้นกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกหมายได้เพียงผู้เดียว เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ว่า
“ในคดีอาญา การจับและคุมขังซึ่งบุคคลใด จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล………..”
“ในคดีอาญา การค้นในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล…”
ทั้งหมดนี้ คือหมายศาลที่สำคัญ ๆ และพบบ่อยๆ ซึ่งการที่ได้รับหมายศาลนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป ตัวของท่านเองหรือครอบครัว หรือเพื่อนของท่าน ดังนั้นถ้าหากท่านได้รับหมายศาลแล้ว อย่าพึ่งตกใจ ท่านต้องตั้งสติก่อน ให้ท่านอ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วน และดูว่าหมายศาลที่ท่านได้รับนั้นเป็นหมายประเภทใด ส่งถึงใคร และกำหนดให้ท่านต้องปฏิบัติเช่นใด ซึ่งหากท่านไม่แน่ใจหรือไม่เข้าใจข้อความในหมายนั้น ให้ติดต่อหรือปรึกษาทนายความ เพื่อรับคำแนะนำและแนวทางในการต่อสู้คดี เพราะไม่มีหมายศาลใดที่ออกโดยปราศจากกฎหมายรองรับ
ปรึกษาทนายความได้ที่ คลิก
บทความก่อนหน้า: พินัยกรรม
บทความถัดไป: คดีผู้บริโภค คืออะไร