กลับไปหน้าบทความทั้งหมด
คดีผู้บริโภค คืออะไร
Created on: Jun 17, 2022
คดีผู้บริโภค คือ
- คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
- คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
- คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตาม (1) หรือ (2)
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พ.ร.บ.คุ้มครองคดีผู้บริโภค พ.ศ.2552
- วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551
- พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551
ผู้เกี่ยวข้องในคดี
- ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการและหมายความรวมถึง ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
- ผู้ประกอบธุรกิจ หมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้าหรือผู้ให้บริการ
- ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะ เป็นความเสียหายต่อชีวิตร่างกายสุขภาพอนามัยจิตใจหรือทรัพย์สินแต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น
ตัวอย่างคดีผู้บริโภค เช่น
- คดีซื้อขาย เช่น บ้าน อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ที่ดิน สินค้าอุปโภคบริโภค
- คดีเช่าทรัพย์ เช่น บ้าน ห้องชุด หอพัก
- คดีเช่าซื้อ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
- คดีจ้างทำของ เช่น ก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน ซ่อมบ้าน
- คดีรับขน เช่น บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางน้ำหรือทางบก
- คดีสินเชื่อส่วนบุคคล กู้ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง
- คดีบัตรเครดิต
- คดีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ)
- คดีประกันภัย เช่น ประกันวินาศภัย ประกันชีวิต
- คดีสินค้าไม่ปลอดภัย เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ยานพาหนะเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ
- คดีบริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม
- คดีบริการสาธารณสุขและความงาม เช่น สถานบริการความงามและสุขภาพ
- คดีสื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต
- คดีบริการธุรกรรมทางธนาคาร เช่น ฝากเงิน ถอนเงิน
- คดีบริการด้านการศึกษา เช่น สถาบันสอนภาษาหรือโรงเรียนกวดวิชา
- ด้านการกีฬา เช่น ให้เช่าสนามฟุตบอล สนามเทนนิส สนามกอล์ฟ ฟิสเนส
- คดีนิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลบ้านจัดสรร
ตัวอย่างคดีที่ไม่ใช่คดีผู้บริโภค เช่น
- คดีอาญา
- คดีละเมิดทั่วไปซึ่งไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
- คดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
- คดีครอบครัว คดีมรดก
- คดีของศาลชำนัญพิเศษหรือศาลแรงงาน ศาลภาษี ศาลล้มละลาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
- คดีแพ่งทั่วไปที่พิพาทกันระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจพิพาทกันเอง เป็นต้น ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกระบวนพิจารณาใดๆที่ได้กระทำไปก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยนั้น
การขอให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ถ้าเป็นการขอในคดีผู้บริโภคต้องกระทำอย่างช้าในวันนัดพิจารณา ถ้าเป็นการขอในคดีอื่นต้องกระทำอย่างช้าในวันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วห้ามมิให้มีการขอให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวอีก
การฟ้องคดีผู้บริโภค
- เขตอำนาจศาลผู้บริโภคหรือผู้เสียหายมีสิทธิ์ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจต่อศาลที่ข้อมูลคดีเกิดหรือต่อศาลที่ผู้ประกอบธุรกิจมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภคได้แต่เฉพาะศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
- ผู้บริโภคจะฟ้องคดีด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้
- ค่าฤชาธรรมเนียมศาลผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตั้งแต่ยื่นฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด เว้นแต่ผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควรหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็นหรือ มีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหากไม่ปฏิบัติตามศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
- ถ้าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลทั้งปวง จะไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
การอุทธรณ์
- การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภค ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
- ในคดีผู้บริโภคที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์เห็นว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง เพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค ไปพร้อมกับอุทธรณ์ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้ามก็ให้มีคำสั่ง รับอุทธรณ์ไว้ดำเนินการต่อไป ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก็ได้ ถ้าคู่ความยื่นคำขอดังกล่าวแล้วจะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด
การฎีกา
- คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือในปัญหาข้อกฎหมาย ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค
- การยื่นคำร้องให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น แล้วให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยในคดีที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคไม่ถูกต้อง ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยแต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายและยกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลชั้นต้น แล้วมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลชั้นต้นแล้วแต่กรณี ทำคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ได้ ที่มา : บทความ/คลังความรู้ จากเว็บไซต์ ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา
ปรึกษาทนายความได้ที่ คลิก
บทความก่อนหน้า: ทำอย่างไรดี เมื่อได้รับหมายศาล !?
บทความถัดไป: Petition to the Court for the Appointment of an Estate Administrator